ถ้ามองในแง่ดี นี่อาจจะเป็นความเคยชินจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือบ่อยๆ เวลาที่มีสายเข้า ข้อความเข้า หรือการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชั่นต่างๆ ตัวเครื่องก็จะมีการสั่นเพื่อแจ้งเตือน ความรู้สึกมันบอกเราว่าอย่างนั้น แต่พอหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูกลับพบว่าไม่มีอะไรเข้ามาเลย นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดอาการที่เรียกว่า ‘อาการหลอนว่ามือถือสั่น‘ หรือ ‘Phantom Vibration Syndrome (PSV)‘ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าอาการนี้กัน ว่ามีผลต่อสุขภาพของเรายังไงบ้าง ?
รู้จัก อาการหลอนว่ามือถือสั่น
อาการนี้นับว่าเป็นอาการหลอนรูปแบบหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ชอบตั้งแจ้งเตือนโทรศัพท์มือถือเป็นแบบสั่น ไม่ใช้เสียง แล้วยิ่งหากเรากำลังตั้งตารอข้อความ หรือการตอบจากใครบางคน ก็ยิ่งจะเกิดความคาดหวังทุกครั้งว่าใครคนนั้นจะตอบกลับ บางทีก็อาจเป็นความกังวล ส่งผลให้ระบบประสาทและการรับรู้ตื่นตัวมากกว่าปกติ ร่วมกับเนื้อสัมผัสของเสื้อผ้าในตอนที่เรากำลังขยับตัว ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าโทรศัพท์สั่นเพราะมีข้อความเข้า หรือมีสายโทรเข้ามา
อาการหลอนว่ามือถือสั่น ถือว่าเป็นโรคร้ายหรือไม่ ?
ความผิดปกติ อย่าง อาการหลอนว่ามือถือสั่น นี้ไม่นับว่าเป็นความผิดปกติ หรือเป็นโรคร้ายแรงแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นพฤติกรรม หรือสัญชาตญาณรูปแบบหนึ่งที่ติดกับตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้นกับระบบประสาทแบบทันทีทันใด อีกทั้งยังเป็นสัญญาณเตือนว่า เรากำลังเสพติดการใช้งานโทรศัพท์มือถือมากเกินไป
แก้ อาการหลอนว่ามือถือสั่น ได้ยังไง ?
- ลองวางโทรศัพท์มือถือเอาไว้ห่างตัว
- ลองเปลี่ยนการตั้งค่าแจ้งเตือนจากแบบ ‘สั่น’ เป็นแบบ ‘เสียง’ แทน
- ย้ายที่เก็บโทรศัพท์มือถือ จากเดิมที่เก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง มาไว้ในกระเป๋าแยกแทน เช่น กระเป๋าเป้ กระเป๋าสะพาย เพื่อช่วยลดการติดที่จะหยิบโทรศัพท์มือถือออกมาบ่อยๆ ลงได้
- ลองปิดโทรศัพท์มือถือในระหว่างวัน หากไม่ธุระให้ต้องติดต่อเร่งด่วนอะไร หรืออาจปิดช่วงก่อนเข้านอน